การแปล

การแปลสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด อย่างกว้างๆ ดังนี้

  1. การแปลตรงตัว(literal translation) – หรือการแปลตามตัวอักษร เป็นการแปลโดยพยายามคงความหมายและโครงสร้างของต้นฉบับไว้มากที่สุด มุ่งความถูกต้องแม่นยําเป็นหลัก แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง (Structure) และการใช้คําบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการใช้ภาษาของภาษาฉบับแปล การแปลลักษณะนี้ใช้ในกลุ่มนักวิชาการหรือกลุ่มเฉพาะอาชีพที่ต้องการความถูกต้องของ สาระข้อเท็จจริง เพื่อจุดประสงค์ในด้านการศึกษาค้นคว้าหรือการนําไปปฏิบัติ เช่น การแปลฉลากยา ขั้นตอนการทดลอง คู่มือปฏิบัติการเป็นต้น นอกจากนี้ กฎหมายสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รายงาน และเอกสารราชการต่างๆก็ใช้วิธีการแปลแบบตรงตัวเช่นกัน
  2. การแปลสรุปความ หรือเอาความ(non-literal translation) – การแปลลักษณะนี้ ไม่ได้มุ่งรักษาโครงสร้าง ตามความหมายหรือรูปแบบของต้นฉบับอย่างเคร่งครัด มีการโยกย้ายขยายความหรือตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงรูปคําหรือไวยากรณ์ได้ การแปลลักษณะนี้นิยมใช้กับเรื่องที่ไม่จําเป็นต้องรักษาความถูกต้องแน่นอนของต้นฉบับ การแปลลักษณะนี้ใช้ในสื่อมวลชนทุกประเภทโดยเฉพาะเพื่อความบันเทิงผู้แปลอาจอ่านจบทีละย่อหน้า ทําความเข้าใจกับเนื้อหา วิธีคิด จุดมุ่งหมายของผู้เขียนและสิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เมื่อสรุปเนื้อหาหลักของต้นฉบับแล้วจึงถ่ายทอดออกมาโดยเรียบเรียบใหม่ การแปลลักษณะนี้เป็นการแปลที่นิยมแพร่หลาย ตัวอย่างของการแปลลักษณะนี้ คือ การแปลนวนิยายเรื่องสั้น นิทาน บทวิทยุ โทรทัศน์

ลักษณะของภาษาในงานแปลที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  1. มีความชัดเจนคือเป็นภาษาที่มีลักษณะกระชับ ไม่ใช้คําที่ไม่จําเป็น รูปประโยคควรเป็นประโยคสั้นๆ หลีกเลี่ยงโครงสร้างประโยคที่ซับซ้อน สลับที่ ใช้ข้อความที่แสดงความคิดได้แจ่มแจ้ง เช่น ประโยคเดียวแสดงความคิดเดียว ไม่กํากวมหรือชวนให้ตีความได้หลายแง่หลายมุม
  2. มีความเหมาะสมผู้แปลต้องเลือกใช้ลีลาการเขียนให้สอดคล้องกับลักษณะของเรื่องที่จะแปล เช่น ถ้าแปลนวนิยายก็อาจใช้สำนวนโวหารเหมาะๆ ให้เกิดภาพพจน์ได้ แต่ถ้าแปลงานด้านกฎหมายหรือการแพทย์ต้องใช้ศัพท์เฉพาะและลีลาการเขียนที่สั้นๆ ไม่ใช้คําหรูหราหรือสํานวนอ้อมค้อมแต่อย่างใด
  3. มีความเรียบง่ายใช้ภาษาที่เรียบง่ายและสัมพันธ์กับความคิดที่กระจ่างแจ้งและต้องตรงตามต้นฉบับ 
  4. มีความสมเหตุสมผลในภาษาแต่ละภาษา มีความสมเหตุสมผลต่างกัน ภาษาที่ใช้ก็ต้องให้มีความสมเหตุสมผลเท่าๆกับที่ภาษาต้นฉบับมีด้วย

ผู้แปลต้องเข้าใจภาษาทั้งสอง คือทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาฉบับแปลเป็นอย่างดี ต้องมีความรู้และภูมิหลังในเรื่องที่จะแปลพอสมควร ต้องมีความสามารถใช้ภาษาอย่างดีเพื่อที่จะได้ถ่ายทอดความคิดของผู้เขียนต้นฉบับให้ผู้อ่านฉบับแปลรู้เรื่อง เข้าใจและอ่านได้อย่างอรรถรส

 

ข้อมูลโดย:   สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ

 

 

 

20 กันยายน 2566

ผู้ชม 194 ครั้ง

Engine by shopup.com